ปลา เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโปรตีนสูง เป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย ทำได้ทั้ง ต้ม ผัด นึ่ง ทอด หลากหลายเมนูมากๆ เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทารก เด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยที่ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ไม่เต็มที่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเนื้อปลามีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่น้อยกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ เมื่อเนื้อปลาสุกมันจะแยกออกเป็นชิ้นๆตามมัดของกล้ามเนื้อเกี่ยวพัน ทำให้เนื้อปลานุ่ม และไม่เหนียวเหมือนเนื้อสัตว์
เคล็ดลับการนึ่งปลาไม่ให้คาว
1. เลือกของสด
ปลาที่จะนำมานึ่งควรจะต้องเป็นเนื้อปลาที่สดใหม่ และผ่านการล้างทำความสะอาดอย่างดี โดยวิธีดูว่าเนื้อปลาสดหรือไม่ให้ดูที่
– ตาปลา เปิดโตเต็มที่ ใส ไม่ลึกโบ๋หรือขุ่นเป็นสีเทา
– เกล็ด สีสดใสเป็นมันเงา แบนราบเสมอกัน ไม่แห้งหรือหลุดลอก
– หนัง ควรจะมีเมือกปลาคลุมอยู่ทั่วทั้งตัว และชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา
– เหงือก ต้องมีสีแดงสด ไม่เขียวคล้ำ ครีบปิดสนิท
– เนื้อปลาไม่แข็งทื่อ เมื่อกดจะยืดหยุ่น มีสปริงเด้งกลับ ไม่บุ๋มตามรอยนิ้วมือ
2. ทาเนื้อปลาด้วยน้ำมะนาวและเกลือก่อนนึ่ง
การทาเนื้อปลาด้วยน้ำมะนาวและเกลือก่อนนำไปนึ่ง จะช่วยกำจัดกลิ่นคาวปลาได้เป็นอย่างดี หรือหากไม่สะดวกใช้น้ำมะนาว จะใช้เป็นน้ำส้มสายชูแทนก็ได้ นอกจากนี้ น้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชูที่ผสมรวมกับเกลือ จะช่วยรัดให้เนื้อปลาคงรูป ไม่แตก ไม่เละง่ายๆ ซึ่งมีผลให้เนื้อปลานึ่งน่ารับประทานมากยิ่งขึ้นด้วย
3. ต้องแน่ใจว่าน้ำเดือดจัด
ก่อนจะใส่ปลาลงไปนึ่ง จำเป็นต้องต้มน้ำให้เดือดจัดๆเสียก่อน และขณะนึ่งก็ต้องใช้ไฟแรงให้น้ำเดือดจัดเช่นกัน เนื่องจากการใช้ไอน้ำที่ร้อนจากน้ำเดือดจะช่วยกำจัดกลิ่นคาวไม่ให้หลงเหลือในเนื้อปลาได้ และในระหว่างนึ่งก็ควรเปิดฝาหม้อให้ไอน้ำออกบ่อยๆ เพราะไอน้ำจะพากลิ่นคาวของปลาออกไปได้
4. ใช้สมุนไพรช่วย
สมุนไพรไทยบางชนิดสามารถช่วยดับกลิ่นคาวของปลาได้ โดยสมุนไพรที่แนะนำ ก็คือ ตะไคร้และหอมแดง ลองใส่สองสิ่งนี้ลงไปขณะนึ่งปลา สมุนไพรจะช่วยดับกลิ่นคาวปลาได้เป็นอย่างดี