เตือนแยกใช้ตะเกียบ ก่อนเป็นไข้หูดับ!!

โรคไข้หูดับ ภัยจากเนื้อหมูติดเชื้อแบคทีเรีย ที่อันตรายถึงชีวิต

รู้จัก โรคไข้หูดับ ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ได้เกิดจากการกินปิ้งย่าง หมูกระทะเพียงอย่างเดียว และมีอันตรายถึงขั้นพิการและเสียชีวิต

เมนูปิ้งย่าง หมูกระทะ ชาบู สุกี้ หนึ่งในกลุ่มเมนูยอดนิยมของคนไทย และค่อนข้างเป็นหนึ่งในเมนูที่หลาย ๆ คนมักนึกถึงสำหรับการเฉลิมฉลองบางอย่าง

แต่การรับประทานอาหารแนวหมูกระทะ ปิ้งย่างนั้น มีหนึ่งโรคที่ซ่อนอยู่กับการกินอาหารลักษณะดังกล่าว และสามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสด้วยเช่นกัน โรคนั้นคือ “โรคไข้หูดับ”

โรคไข้หูดับ คืออะไร ?

โรคไข้หูดับ คือ โรคที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (STREPTOCOCCUS SUIS)” โดยเชื้อดังกล่าวจะอยู่ในระบบทางเดินหายใจ และเลือดของหมู แต่เชื้อดังกล่าวไม่ได้ติดเชื้อสู่คนได้ผ่านการหายใจ เหมือนเชื้อไข้หวัดปกติ แต่สามารถติดเชื้อได้ผ่านบาดแผล เยื่อบุตา และการรับประทาน

การติดเชื้อ จะเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ

1.เกิดจากการบริโภคเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่ดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เมนูที่มักจะพบได้บ่อย คือ ลาบ หลู่

2.เกิดจากการสัมผัสเนื้อสัตว์ เครื่องในหมู และเลือดหมูจากตัวที่ติดเชื้อ โดยติดเชื้อได้จากทางบาดแผล เยื่อบุตา รวมถึงการสัมผัสสารคัดหลั่งของหมูที่ติดเชื้อ เช่น น้ำมูก น้ำลาย

ส่วนกรณีที่มีการรายงานข่าวที่ผ่าน ๆ มาว่า กินหมูกระทะ แล้วพบการติดเชื้อไข้หูดับในตอนหลังนั้น ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน จากการใช้ตะเกียบคู่เดียวกันในการคีบเนื้อดิบนำไปย่าง และนำมาคีบเนื้อสุกด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนว่า รับประทานเนื้อหมูดิบหรือปรุงไม่สุกนั่นเอง

อาการที่พบได้ในผู้ติดเชื้อโรคไข้หูดับ

เชื้อโรคไข้หูดับ จะมีระยะฟักตัวในร่างกายก่อนที่จะแสดงอาการไม่เกิน 3-5 วัน โดยส่วนใหญ่จะมีอาการไข้สูง ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้

บางรายที่มีอาการรุนแรง จะส่งผลให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้ถึงขั้นพิการ และมีโอกาสเสียชีวิตจากภาวะช็อกและการติดเชื้อในกระแสเลือดได้

ส่วนคำว่า “หูดับ” ที่อยู่ในชื่อโรค เป็นอีกหนึ่งในอาการที่พบได้จากการติดเชื้อโรคไข้หูดับในปลายระบบประสาทหู ทำให้เกิดการอักเสบและกระทบต่อการได้ยินแบบเฉียบพลัน และอาจถึงขั้นพิการ หูหนวกได้

ดร.สุกัญญา ยงเกียรติตระกูล นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาต (สวทช.) เคยอธิบายงานวิจัยเรื่องเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส ในประเทศไทยไว้ว่า

ในประเทศไทย มีอัตราการติดเชื้อดังกล่าวประมาณ 200-350 คนต่อปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงประมาณร้อยละ 5-10 โดยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง

การวินิจฉัย และรักษาโรคไข้หูดับ

การวินิจฉัยโรคไข้หูดับ สามารถทำได้ในผู้ที่มีอาการน่าสงสัย เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ คอแข็ง มีประวัติสัมผัสหรือรับประทานเนื้อหมูแบบกึ่งสุุุกกึ่งดิบมาก่อน ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา โดยจะวินิจฉัยผ่านการตรวจเพาะเชื้อจากเลือดและน้ำเยื่อหุ้มไขสันหลัง เพื่อหาเชื้อแบคทีเรียชนิดดังกล่าว ยิ่งเข้ารับการรักษาได้เร็ว ยิ่งช่วยลดโอกาสที่เชื้อจะรุนแรงได้

ส่วนวิธีการรักษาโรคไข้หูดับ จะทำควบคู่กันทั้งการรักษาแบบเจาะจงโดยการให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ และการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ลดไข้ ลดอาการปวด วิงเวียนศีรษะ พร้อมกับการให้สารอาหารและเกลือแร่ต่าง ๆ แก่ผู้ป่วย

โรคไข้หูดับ ป้องกันได้อย่างไร ?

โรคไข้หูดับ สามารถป้องกันได้ง่ายด้วยการหลีกเลี่ยงการบริโภคหมูดิบ ปรุงให้สุกจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่ทานสุก ๆ ดิบ ๆ หากมีบาดแผล รอยขีดข่วน ต้องปิดแผลให้มิดชิด สวมถุงมือ ก่อนสัมผัสเนื้อหมูดิบทุกครั้ง และเมื่อสัมผัสแล้วให้ล้างมือให้สะอาดทันที รวมถึงผู้รับประทานหมูกระทะ ปิ้งย่าง ควรมีตะเกียบสำหรับคีบเนื้อดิบแยกออกมาจากตะเกียบคีบเนื้อสุกหรืออาหารต่าง ๆ จากเตา เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อ

นอกจากนี้ การเลือกซื้อเนื้อหมูสด ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน และสังเกตเนื้อหมูว่าต้องไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ รวมถึงหลีกเลี่ยงบริโภคเนื้อหมูจากหมูที่ป่วยหรือตาย

ขณะที่เกษตรกร ผู้ทำงานในเล้าหมู หรือพ่อค้า แม่ค้าเขียงหมู ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับมากกว่าคนทั่วไป ควรสวมรองเท้าบูตยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

การรับประทานอาหารนั้น จะไม่เกิดภัยต่อร่างกายและสุขภาพของเรา หากรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และทำสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงไว้เสมอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *